Psychology Fact ข้อควรรู้สุขภาพจิต

โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder – DID)

By Mind Expert | 20 August 2022

หลายๆคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยหรือรู้จักเกี่ยวกับโรคหลายอัตลักษณ์ หรือโรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder – DID) ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Multiple Personality Disorder เป็นหนึ่งในโรคจิตเวชที่ถูกจัดอยู่ในประเภท Dissociative disorders วันนี้เราจะพามารู้จักกับโรคหลายบุคลิกให้มากขึ้น

โรคหลายบุคลิกคืออะไร

โรคหลายบุคลิกนั้น เป็นโรคทางจิตเวชรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตลักษณ์หรือบุคลิกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนไปมาในตนเอง โดยระบบความจำ การรับรู้ ความคิด ความทรงจำ หายไปชั่วขณะ ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก จะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่สามารถจดจำตนเองได้เมื่อบุคลิกหนึ่งปรากฏออกมาแทนที่ โดยผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก จะดึงบุคลิกภาพที่แตกต่างกันเหล่านั้นออกมาสลับกันมีบทบาทในโลกภายนอก  ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ลักษณะนิสัย น้ำเสียงในการพูด ที่แตกต่างกันอย่างกัน

สาเหตุของโรคหลายบุคลิก

มักเกิดจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง อย่างการถูกทำร้ายร่างกาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก  นอกจากนี้อาจเกิดขึ้นหลังการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ การจากไปของคนในครอบครัว หรือการถูกทอดทิ้งเป็นระยะเวลานาน สมองจึงสร้างกลไกป้องกันตัวเองโดยเปลี่ยนเป็นอีกบุคลิกหนึ่งเพื่อตัดขาดหรือหลีกหนีจากความทรงจำและตัวตนเดิมที่สร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ

การรักษาโรคหลายบุคลิก

วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการของผู้ป่วย โดยใช้หลากหลายวิธีผสมผสานกัน เช่น การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นวิธีการรักษาหลักของโรคหลายบุคลิก จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะพูดคุยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยได้พูดเกี่ยวกับความทรงจำอันเลวร้ายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย โดยผ่านการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) ที่เน้นให้เข้าใจสาเหตุ พร้อมกำหนดเป้าหมายในการบำบัดรูปแบบความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม หรือการบำบัดในรูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy) พฤติกรรมบำบัด ครอบครัวบําบัด สมาธิบำบัด สะกดจิตบำบัด ดนตรีบำบัด เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ยาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้รักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มียาที่รักษาโรคหลายบุคลิกได้โดยตรง แต่หากผู้ป่วยมีอาการอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจได้รับยาต้านเศร้า (Antidepressant) ยารักษาโรควิตกกังวล หรือยาต้านอาการทางจิตอื่นๆ (Antipsychotic Drug) ตามดุลยพินิจของแพทย์

More on this Topic
Everyone needs help some time in their life. Lightpost offers the best help when you need it.
Company
Directories
Address
437/7 Phaholyothin 35 Ladprao,
Chatuchak, Bangkok 10900
Mon - Fri 8:00 - 17:00
Sat - Sun (Appointment)
© 2020 Lightpost Counseling. 
Developed by MeCode. All Rights Reserved.