บางครั้งบาดแผลจากการไม่สมหวังเรื่องความรัก หรือถูกคนรักทำร้าย หักหลัง นอกใจ ทำให้หลายคนกลายเป็นคนกลัวความรักไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นการยากที่จะเปิดใจรับคนใหม่ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในชีวิต หรือเริ่มความรักครั้งใหม่ได้อีกครั้ง
โรคกลัวความรัก (Philophobia) คือโรคกลัวการตกหลุมรัก หรือเรียกง่ายๆ ว่าโรคกลัวความรัก ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวการมีความรักหรือความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้อื่นจนไม่กล้าเริ่มต้น ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้บางคนมีอาการทางร่างกาย เช่น ตื่นกลัว มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก คลื่นไส้ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยแยกตัวออกจากสังคมหรือไม่มั่นใจในตัวเองได้
สาเหตุของโรคกลัวความรัก
สาเหตุของโรคกลัวความรักนั้นอาจจะเกิดจากหลายปัจจัย เช่นพันธุกรรม สภาพแวดล้อม หรือเหตุการณ์ในแง่ลบที่ฝังใจมาตั้งแต่ตอนเด็ก โดยเฉพาะหากเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาหย่าร้าง พ่อแม่คนใกล้ตัวมีชีวิตรักในแง่ลบ รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนาที่มีกฎข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่องความรักอย่างเข้มงวด ซึ่งอาจจะสร้างความรู้สึกเกรงกลัวฝังรากลึกในใจ ส่งผลให้ไม่อยากเสี่ยงกับการมีความรักครั้งใหม่หรือเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับใคร หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง
อาการของโรคที่เห็นได้ชัด
โรคกลัวความรักนั้นไม่มีวิธีวินิจฉัยแบบเฉพาะเจาะจงโดยแพทย์อาจดูพฤติกรรมด้านจิตเวชแบบเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องความรัก เพื่อดูตรวจสอบว่า ผู้ป่วยมีลักษณะพฤติกรรมกลัวความรักหรือไม่ซึ่งจะมีอาการเหล่านี้คือ กลัวการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ ทุกครั้งที่พบเจอกับคนที่ถูกใจและรู้สึกว่าความสัมพันธ์กำลังไปได้ดี จะมีความรู้สึกวิตกกังวล และพยายามจบความสัมพันธ์นั้นให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองต้องเจอกับภาวะเสียใจ ชอบอยู่คนเดียว หงุดหงิดกับการต้องร่วมกิจกรรมกับคนอื่น เบื่อหน่ายที่จะต้องรอคอยใครสักคน มีอาการทางร่างกายเวลาที่ต้องเผชิญกับความสัมพันธ์ใหม่ๆ เช่น มือชา เท้าชา หน้าชา หายใจเร็วและแรง เป็นต้น
วิธีรักษาโรคกลัวความรัก
การรักษาโรคกลัวความรักโดยหลักๆ จะเป็นการให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ โดยจิตแพทย์จะสอบถามและให้ผู้ป่วยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องที่ฝังใจ เพื่อหาต้นตอสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกลัวความรัก หลังจากที่รู้สาเหตุทำให้เกิดโรค จิตแพทย์จะเริ่มให้คำปรึกษา หรือทำจิตบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม เพื่อชี้ให้เห็นถึงความคิดและความเชื่อในทางลบที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความกลัวขึ้น รวมทั้งพยายามช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นแนวทางแก้ไข แนะนำให้เริ่มสร้างความสัมพันธ์จากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือแนะนำให้เริ่มจากการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนและคนใกล้ชิด เพื่อขจัดความกลัวไปทีละน้อย