“คุยกับคนเป็นซึมเศร้าอย่างไรดี?” เป็นคำถามยอดฮิตที่ที่เราพบว่าถามกันเข้ามามาก ในช่วงถาม-ตอบ ของการการเสวนาเรื่องซึมเศร้า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ปกติ 100% แต่เป็นคนที่มีความเจ็บป่วยในใจ ซึ่งเหมือนกับคนอื่นๆที่ป่วยด้วยโรคทางกายต่างๆ เช่นโรคกระเพาะ ไมเกรน ความดัน เบาหวาน โรคซึมเศร้าคือโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เป็นแล้วมีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม หรือจิตใจเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ที่อยู่รอบตัวคนเป็นโรคซึมเศร้าต้องมีความเข้าใจผู้ป่วยใจมากๆเพื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยใจอาการดีขึ้น
วิธีสังเกต ถ้าเพื่อนเราหรือคนในครอบครัว คนที่ทำงาน ของเราเป็นซึมเศร้า จะมีลักษณะอาการ ตามนี้
มีอาการหลักคือ
1.มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ ซึม
2.เบื่อ ไม่อยากทำอะไร
ร่วมกับมีอาการเหล่านี้ อย่างน้อย 5 ข้อ ใน 7 ข้อ ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
1. เบื่ออาหาร หรือทานมากเกินไป
2.หลับยาก หลับๆตื่นๆ หรือนอนหลับมากเกินไป
3.คิดช้า พูดช้า หรือหงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้
4.รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยใจ ไม่มีแรง
5.รู้สึกตนเองไร้ค่า
6.สมาธิความคิดอ่านช้าลง
7.มีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง
หากเช็คแล้วมีอาการตรงตามเกณฑ์นี้ แนะนำให้ลองทำแบบทดสอบซึมเศร้า เพื่อเช็คอีกครั้ง หากได้ผลคะแนนมากสูง คือมีภาวะซึมเศร้ารุนแรง ควรรีบพบนักวิชาชีพทางจิตใจอย่างเร่งด่วน
เมื่อเรามีคนรอบตัวเป็นซึมเศร้าแล้วเราควรจะปฏิบัติตัวกับเขาอย่างไร ?
1.คอยรับฟัง การรับฟังสำคัญที่สุดเลย เพราะจากที่ได้ให้คำปรึกษาเคสซึมเศร้าต่าง ๆ มามาก เคสที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงส่วนมาก พอถามว่ามีคนคอยรับฟังปัญหาต่าง ๆ บ้างไหม? เคสส่วนใหญ่จะตอบว่า ไม่มีเลย เมื่อขาดคนรับฟังที่ดี ปัญหาก็จะไม่ได้ระบายออก ส่งผลกระทบต่อภาวะซึมเศร้า ในทางกลับกัน เมื่อสอบถามเคสที่มีภาวะซึมเศร้าขั้นน้อยและปานกลางจะตอบว่า พอมีคนที่สามารถเล่าปัญหาให้ฟังได้อยู่ เพราะฉะนั้นหากเราอยากช่วยเหลือคนรอบตัวเราที่เป็นโรคซึมเศร้า เพียงบอกเขาหรือเธอว่า
“มีอะไรก็เล่าให้เราฟังได้นะ”
แค่นี้เลย จะเป็นประโยคที่ดีมาก ๆ ให้เขารู้สึกว่าอย่างน้อยไม่ได้อยู่คนเดียว
2.ไม่ต้องแนะนำอะไร เนื่องจากคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีระดับสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ ที่อาจต้องทานยาต้านซึมเศร้าอย่างต่อเนื่องถึงจะดีขึ้น การที่เราแนะนำทางออก ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ จะไม่เป็นประโยชน์กับเขา ประโยคเหตุผลต่างๆจะใช้ไม่ได้ผล จะยิ่งเป็นการสร้างความขัดแย้งด้วย เราอาจจะอารมณ์เสียได้ เมื่อเขาไม่ฟังหรือทำตามไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแนะนำ หรือบอกเหตุผลต่างๆให้เขาเลิกเศร้า หรือลุกขึ้นมาแก้ปัญหาตามที่เราคิด
3.เสริมแรง ให้กำลังใจ คนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีชุดความคิดผิดๆอยู่คือ คิดว่าตัวเองไม่มีค่า เช่น ไม่มีค่าสำหรับที่บ้าน ไม่มีใครรัก ที่ทำงานก็ทำงานได้ไม่ดีถูกหัวหน้าต่อว่า ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน หรืออาจจะถูกบอกเลิกจากคนรักแล้วคิดว่าตนเป็นคนไม่มีค่าไม่มีความสำคัญกับผู้อื่น ซึ่งเป็นความคิดทางลบ เพราะฉะนั้นเราสามารถเสริมแรงได้โดยบอกว่า เขามีความหมายสำหรับเราสำหรับใครๆอีกหลายคน มีคนรักเขานะ จะเป็นประโยคที่พูดได้บ่อยๆเพื่อให้เขารู้สึกดีกับตนเองและรับรู้ว่ามีคนที่รักเขาอยู่
4.หลีกเลี่ยง คำว่า “สู้ๆนะ” เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีสภาพจิตใจที่อ่อนไหวกว่าคนทั่วไป และเขารู้สึกเหนื่อยกับการใช้ชีวิตในโลกที่เลวร้ายใบนี้มากๆ การที่เราพูดให้กำลังใจว่า “สู้ๆนะ” จะไม่เป็นคำพูดให้กำลังใจ แต่จะกลายเป็นคำเชิงลบ และเป็นการกดดันให้เขาพยายามต่อสู้ต่อ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาหายได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยใจ และคนใกล้ตัวที่เข้าใจและคอยให้กำลังใจด้วย ถ้าทุกคนเข้าใจคนที่เป็นซึมเศร้ามากขึ้น เชื่อว่าจะมีคนที่รักษาหายมากขึ้น และลดจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าในสังคมลงได้มากเลย ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยและคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยซึมเศร้าทุกท่าน