เคยหรือไม่กินข้าวอิ่มแล้วรู้สึกง่วงนอน ดังคำที่ว่า หนังท้องตึงหนังตาหย่อน โดยเฉพาะวันทำงานที่ต้องนั่งหน้าคอมหรือต้อง work from home ยิ่งในช่วงเวลาบ่ายๆหลังกินข้าวเสร็จ ทำให้เกิดอาการง่วงซึม เฉื่อยชา อยากหลับตาเสียให้ได้
ฟู้ดโคม่า (Food Coma) คืออะไร?
อาการกินแล้วง่วง หรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่าฟู้ดโคม่า (Food Coma) เกิดจากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นเมื่อทานอาหารมากเกินไป โดยอาหารมื้อนั้นประกอบไปด้วยสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจำพวกแป้งและน้ำตาล โปรตีน และไขมัน เมื่อผ่านระบบการย่อยอาหารแล้วร่างกายจะกลั่นกรองน้ำตาล หรือกลูโคส ที่สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดนำไปใช้เป็นพลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังมีกรดอะมิโนชนิดหนึ่งมาจากอาหารที่เราทานเข้าไปเช่นเดียวกัน เรียกว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งสารนี้จะเข้าสู่สมองและระบบประสาททำให้ลดความตึงเครียด และทำให้เราเกิดอาการง่วงนอนได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิด Food Coma นั้นมีด้วยกันหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากการทานอาหารอิ่มจนเกินไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การโหมงานหนักมากเกินไปในช่วงเวลาเช้า การทานอาหารประเภทแป้งและคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหารมากเกินไป ทานอาหารที่มีกรดไขมันมากไปทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน และเมลาโทนินออกมา ซึ่งมีผลทำให้ง่วงนอน ซึม และรู้สึกเหนื่อยล้า
ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้มีอาการ Food Coma
1.การนอน ควรนอนหลับให้เพียงพอ โดยพักผ่อน 7-8 ชั่วโมงต่อคืน ให้ร่างกายได้พักผ่อนตามเกณฑ์มาตรฐานของการนอนหลับที่ดี
2.ใช้เวลาในการพักเที่ยงเดินย่อย ออกกำลังกายเบาๆ ให้เลือดไหลเวียนและสมองทำงานได้เต็มที่ รวมถึงยังสามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางคืนอีกด้วย
3. ปรับการกิน ควบคุมปริมาณ และเปลี่ยนมากินอาหารย่อยง่าย เน้นกินผัก และข้าวไม่ขัดสี ลดปริมาณเนื้อสัตว์ติดมัน แป้ง และข้าวขาวลง ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวันเพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น
4.จัดการงานกองโตที่แสนน่าเบื่อบนโต๊ะทำงานในช่วงเช้า เพราะเป็นช่วงที่สมองกำลังตื่นตัว หากสะสมมาทำตอนช่วงบ่าย หรือหลังรับประทานอาหารมื้อกลางวัน อาจทำให้เรารู้สึกเบื่อ เหนื่อย เพิ่มความล้า และกระตุ้นการง่วงนอนได้
5. ไม่ไหวอย่าฝืน สุดท้ายแล้วหากร่างกายยังฝืนไว้ไม่ไหวจริงๆ อาจต้องขอเวลาไปนอนพักสัก 10 – 15 นาที วิธีการง่ายๆ แบบนี้ก็อาจช่วยให้กลับมากระปรี้กระเปร่าได้