ด้วยปัจจัยหลายอย่างในปัจจุบันที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ ทำให้คนเราเกิดความเครียดมากขึ้น บางคนอาจมีการจัดการความเครียดที่ผิดวิธีนั่นก็คือ “การดึงผมของตนเอง”โดยผู้ป่วยอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ เนื่องจากเมื่อดึงหรือถอนขนออกแล้วจะรู้สึกผ่อนคลายความเครียดหรือช่วยให้รู้สึกคลายกังวลได้
โรคดึงผม (Trichotillomania) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยต้องการดึงผมหรือขนตามร่างกายของตนเอง โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ ขนตา ขนคิ้ว หรือขนตามตัว จนผมหรือขนบริเวณนั้นลดลงอย่างสังเกตได้ชัด ปัจจุบันจัดอยู่ในอาการทางจิตเวชกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ พบได้ทั้งเพศชายและหญิง ซึ่งแม้จะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าโรคนี้อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงระหว่างส่วนที่ควบคุมอารมณ์ การเคลื่อนไหว การสร้างนิสัย ความเคยชิน พันธุกรรม ความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ของตนเอง
อาการของโรคดึงผม
โรคดึงผมนี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เกิดความเครียดหรือโรคซึมเศร้าตามมาได้ โดยมีอาการอยากดึงผมตนเองเป็นพักๆ มักเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือในผู้หญิงอาการอาจเป็นเยอะขึ้นช่วงมีประจำเดือน เป็นต้น ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม อาจพบรอยแกะเกาที่หนังศีรษะ ใบหน้า หรืออาการกัดเล็บร่วมด้วย
การรักษา
แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจอาการของโรคและให้ผู้ป่วยสังเกตพฤติกรรมตนเองว่ารู้สึกอยากดึงผมบริเวณใด เมื่อไหร่ และสอนให้ผู้ป่วยทำพฤติกรรมอื่นทดแทน ซึ่งอาจทำได้โดยการกำมือขณะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันการนำมือไปดึงผมหรือขน หรือรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นหากมีความผิดปกติของผิวหนัง เช่น คันหนังศีรษะ หนังศีรษะอักเสบแพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้ยาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้โดยการผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง ใช้เวลากับคนในครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ๆ เป็นต้น