Psychology Fact ข้อควรรู้สุขภาพจิต

โรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-Compulsive Disorder(OCD)

By Mind Expert | 01 January 2021

เคยหรือเปล่า ? ล็อคประตูหรือยัง ปิดน้ำ ปิดไฟหรือยังนะ จึงต้องกลับไปสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้แน่ใจ แต่ก็ยังมีความกังวลใจ จนไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ และยังมีความคิดวนเวียนไม่เลิก บางครั้งก็หลงๆ ลืมๆ และชอบทำอะไรย้ำคิดย้ำทำ ซ้ำๆ จนบางครั้งเกิดความรำคาญใจแต่ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการยังไงกับความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น หากคุณมีอาการเหล่านี้อาจจะต้องรีบเช็คว่าคุณเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่?

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ obsessive-compulsive disorder(OCD) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิด ด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวผู้ป่วยเองก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำนั่นได้ ผู้ป่วยเป็นโรคนี้มักจะรู้ตัวว่าพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำของตัวเองไม่มีเหตุผล เสียเวลา ทำให้เกิดความเครียด

อาการ

อาการย้ำคิด (obsession) แรงขับดันจากภายใน มีความคิด ความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาบางครั้งก็เกิดจากการจินตนาการไปเองว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นที่มักผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ โดยผู้ป่วยเองก็ทราบว่า เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล ส่วนใหญ่มักจะมีพื้นฐานมาจากความกลัวของผู้ป่วยเอง แต่กลับไม่สามารถหยุดความคิดนั้นได้ เช่น คิดว่าลืมล็อกประตูบ้าน กลัวความสกปรก เชื้อโรค หรือกลัวการสัมผัสสิ่งของหรือตัวผู้อื่นไม่สบายใจเวลาเห็นของไม่เป็นระเบียบ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และรู้สึกรำคาญต่อความคิดนี้

อาการย้ำทำ คือ  เป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ผู้ป่วยทำขึ้น เพื่อตอบสนองความคิดความกังวลนั้นด้วยการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ลดความไม่สบายใจหรือความกลัวนั้นลงโดยตัวผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถหยุดการกระทำของตัวเองได้  เช่น ต้องล้างมือซ้ำๆ  ตรวจสอบลูกบิดประตูหรือหัวแก๊สซ้ำๆ จัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ แยกเป็นหมวดหมู่ หันไปทางเดียวกันอยู่เสมอ

สาเหตุ

โรคโรคย้ำคิด ย้ำทำ (OCD) เกิดมาจากการทำงานผิดปกติในสมอง และระบบประสาทที่มีการทำงานบกพร่องอาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ ปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

ปัจจัยทางชีวภาพ คือการทำงานของสมองบางส่วนมากเกินปกติ สมองส่วน Orbitofrontal, Cingulate Cortex, Caudate และ Thalamus หรือเกิดความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมภาวะอารมณ์ความรู้สึก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้อาจเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยพบว่าอัตราการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำในแฝดไข่ใบเดียวกัน(monozygotic twins) เท่ากับ ร้อยละ 60-90 ในขณะที่ในประชากรทั่วไป พบร้อยละ 2-3

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอย่างประสบการณ์เลวร้ายที่พบเจอในชีวิต เช่น ผู้ป่วยอาจเจอเหตุการณ์รุนแรงในวัยเด็ก ถูกทารุณกรรมทั้งทางกาย และทางใจ หรือปัญหาชีวิตที่รุนแรงก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

ในด้านการทำงานของสมอง พบว่าผู้ป่วยมีการทำงานของสมองเพิ่มขึ้นในสมองส่วน orbitofrontal cortex, cingulate cortex, caudate และ thalamus ทั้งนี้บริเวณเหล่านี้อาจรวมกันเป็นวงจรที่มีการทำงานมากเกินปกติในผู้ป่วย OCD

การรักษา

โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วย OCD จะได้รับการรักษาด้วยยา จิตบำบัด หรือทั้งสองอย่างรวมกัน แม้ว่าผู้ป่วยโรค ส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อการรักษา แต่ผู้ป่วยบางรายยังคงมีอาการอยู่ บางครั้งผู้ที่เป็นโรค OCD ก็มีอาการผิดปกติทางจิตอื่นๆ เช่น ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรค dysmorphic ซึ่งการรักษาด้วยยาและจิตบำบัดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

การรักษาด้วยยา

ยาแก้ซึมเศร้า ยาที่รักษาได้ผลดีในผู้ป่วย OCD เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อ ระบบซีโรโตนิน เช่น clomipramine และยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI) ทุกตัว ได้แก่ fluoxetine, fluvoxamine, paroxetine, sertraline และ escitalopram โดยทั่วไปมักใช้ในขนาดที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า อาการข้างเคียงที่อาจพบได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ

ยาคลายกังวล ในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลอยู่สูงอาจใช้ยาในกลุ่ม benzodiazepine ในระยะสั้นๆ ยาในกลุ่มนี้ไม่มีผลในการรักษาอาการย้ำคิด หรืออาการย้ำทำ

ยาต้านโรคจิต ในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยยาแก้เศร้าแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านโรคจิต เช่น risperidone ควบคู่ไปกับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

การรักษาด้วยจิตบำบัด

การรักษาที่ได้ผลดีอีกแบบหนึ่งคือ จิตบำบัดเป็นการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและพฤติกรรมบำบัด โดยการให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กังวลใจและป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมย้ำทำ ที่เคยกระทำ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มักล้างมือ ก็ให้จับของที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าสกปรก ให้รออยู่ช่วงหนึ่งจึงอนุญาตให้ล้างมือ การฝึกจะทำตามลำดับขั้น เริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลน้อยไปหามาก และระยะเวลาที่ไม่ให้ล้างมืออาจเริ่มจาก 10-15 นาที ไปจนเป็นชั่วโมง หากการรักษาได้ผลผู้ป่วยจะกังวลน้อยลงเรื่อยๆ จนสามารถจับสิ่งต่างๆ ได้ โดยการใช้วิธีบำบัดนี้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวไม่มาก แล้วค่อยเพิ่มระดับขึ้นไป ให้เวลาปรับตัว เมื่อผู้ป่วยเริ่มชินและปรับตัวได้ ให้ทำซ้ำ เมื่อผู้ป่วยชินชากับความกลัวที่มากเกินไปจนผู้ป่วยหายกลัวในที่สุด

นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย มีความสำคัญอย่างยิ่ง แพทย์ควรแนะนำสมาชิกในครอบครัว ถึงอาการของโรค แนวทางการรักษาและการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งแนะนำให้มีท่าทีเป็นกลางต่ออาการของผู้ป่วย โดย ไม่ร่วมมือและช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยมีอาการ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต่อว่าผู้ป่วย เนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยเครียด และยิ่งกระตุ้นให้อาการเป็นมากขึ้นได้ ในรายที่อาการรุนแรง อาจมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฝังแท่งกำเนิดไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นสมองส่วนลึก ( deep brain stimulation ) หรือ การผ่าตัด ( cingulotomy )

หากสงสัยว่าว่ามีอาการเหล่านี้เบื้องต้นแนะนำรีบไปพบแพทย์และหาทางรักษา หากจำเป็นต้องรักษาควรมีความอดทนกับการเข้ารับการบำบัดและฝึกตัวเอง การรักษาไม่ควรใจร้อน เพราะอาการของโรคย้ำ คิดย้ำทำ มักจะค่อยๆ ดีขึ้น อาจไม่เร็วอย่างที่คิด แต่จำเป็นต้องบำบัดดูแลเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีการลดความรุนแรงที่สามารถทำเองได้ด้วยการผ่อนคลายความเครียดและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

อ้างอิง

  • กรมสุขภาพจิต
บทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวข้อนี้
บางทีเราอาจจะแค่มีเรื่องที่อยากคุยกับใครบางคน ที่ไลท์โพสต์ เราต้องการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะกับสถานการณ์ของคุณ
Company
Directories
ข้อมูลสำหรับติดต่อ
437/7 ซอย พหลโยธิน 35 แยก 5-2
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:00 - 17:00
เสาร์ - อาทิตย์ (นัดหมายล่วงหน้า)
© 2020 Lightpost Counseling. Developed by MeCode. All Rights Reserved.