Psychology Fact ข้อควรรู้สุขภาพจิต

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

By Mind Expert | 01 January 2021

โรคนอนไม่หลับ เป็นอาการที่ทำให้บุคคลนอนไม่หลับ หลับลำบาก หรือหลับไม่สนิท ตื่นกลางดึกบ่อย  ตื่นเช้ากว่าปกติ รู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอน ซึ่งการนอนไม่หลับมักจะเป็นเรื้อรัง หากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจเกิดเป็นโรคนอนไม่หลับได้โดยโรคนอนไม่หลับแบ่งออกได้เป็นสองชนิด ดังนี้

1. โรคนอนไม่หลับจากปัญหาในการดำเนินชีวิต

เป็นอาการที่มักเกิดจากความตื่นเต้นหรือความเครียดต่าง ๆ ซึ่งบุคคลไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์นั้นได้จนเกิดความตึงเครียด เช่น การนอนไม่หลับเมื่อต้องห่างจากบ้าน การเดินทางไปในสถานที่เวลาต่างจากเดิม ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับในช่วงเวลานั้น โดยส่วนใหญ่เมื่อบุคคลปรับตัวได้ หรือผ่อนคลายจากสถานการณ์แล้วอาการนอนไม่หลับจะหายไป

2. โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง

เป็นการนอนไม่หลับที่เป็นติดต่อกันมานานมากกว่า 1 เดือน คนที่นอนไม่หลับส่วนมากมักจะกังวลกับการนอนหลับของตนเอง หรืออาจเพราะการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติในระหว่างนอนหลับ

อาการของโรคนอนไม่หลับ

- มีอาการอ่อนเพลีย และง่วงนอนในเวลากลางวันเนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ

- นอนไม่หลับหรือหลับยากเมื่อต้องการนอน

- มักตื่นเร็วเกินกว่าปกติ

-  หลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดคืน หรือหลับแล้วตื่นขึ้นเองกลางดึก และหลับต่อได้ยาก

- มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง 3 ครั้ง/สัปดาห์ และเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน

- มีอาการนอนไม่หลับเฉียบพลันจากความเครียด ความกังวล หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

- ไม่ค่อยมีสมาธิ อารมณ์หงุดหงิดง่าย

- มีความกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับ

สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลังอาจเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัยร่วมกัน

- ปัจจัยทางด้านจิตใจ

ปัจจัยทางจิตใจที่ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ อาจเกิดจากบุคคล รู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ ส่งผลให้เกิดความเครียด ความกังวลใจ ซึ่งแต่ละคนมีการตอบสนองต่อความเครียดไม่เหมือนกัน เช่น มีอาการปวดศีรษะหรือปวดท้อง กล้ามเนื้อตึง และอื่น ๆ

- ปัจจัยการใช้ชีวิตประจำวัน

การได้รับสารกระตุ้นบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น คาเฟอีนจากการดื่มชา กาแฟ สารนิโคตินจากบุหรี่, การทำงานเป็นกะ ทำงานหนัก, การออกกำลังกายน้อยกว่า 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

บางครั้งปัจจัยภายนอกก็มีผลต่อการนอน เช่นอยู่ในที่ ๆ เสียงดังรบกวน แสงสว่างมากเกินไป อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป เวลาหรือสถานที่เปลี่ยนไปจากเดิม

- ปัจจัยจากความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ

อาการนอนไม่หลับเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยบางโรค เช่น โรคซึมเศร้า

โรคการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับ ความผิดปกติของขากระตุกเป็นช่วง ๆ ขณะหลับ โรคกรดไหลย้อน ไอเรื้อรัง ปัสสาวะบ่อยหรือโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บปวดทางร่างกายมากจนทำให้นอนไม่หลับ

เทคนิคที่ช่วยลดปัญหาการนอนไม่หลับ

- ตื่นนอนและเข้านอนเป็นเวลา

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

- จัดสภาพห้องนอนให้เหมาะสม

- นอนเมื่อรู้สึกง่วง ไม่กดดันตนเองเกินไป

- พยายามงดหรือลดสารที่อาจทำให้นอนไม่หลับ

- ไม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ บนเตียงนอน นอกจากการนอน เช่น ทำงาน อ่านหนังสือ

- หากมีความเครียด หรือรู้สึกเหนื่อยล้า ควรมีการผ่อนคลาย เช่น อาบน้ำอุ่น ฝึกสมาธิ ฟังดนตรีบำบัด

ผลกระทบที่เกิดจากการนอนไม่หลับ

- ทำให้มีอาการง่วงตอนกลางวัน

- มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง

- มีปัญหาเรื่องความจำ หลงลืมง่าย ความจำลดลง

- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

- มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความรู้สึก เช่น หงุดหงิด เบื่อหน่าย ท้อแท้ เป็นต้น

การรักษาอาการนอนไม่หลับ

การรักษาอาการนอนไม่หลับต้องวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของการนอนไม่หลับ และรักษาตามสาเหตุที่ค้นพบ หากอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากโรคนอนไม่หลับโดยตรง มีวิธีการรักษา ดังนี้

1.การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การเข้านอนให้ตรงเวลา การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การนอนหลับ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ และห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความตื่นเต้น เช่น การดูภาพยนตร์ หรือการฟังเพลง แต่ให้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายแทน เช่น การฟังดนตรีบำบัด อ่านหนังสือ เป็นต้นเป็นต้น

2. ทำกิจกรรมผ่อนคลาย

เมื่อมีความเครียดหรือความวิตกกังวล ควรมีการผ่อนคลาย เช่น การผ่อนคลายด้วยฝึกการหายใจ เทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น

3. การรักษาด้วยยา

หากตรวจพบว่าสาเหตุของโรคนอนไม่หลับมาจากอาการ หรือได้รับผลมาจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์แพทย์จะให้ทานยาร่วมด้วย เป้าหมายในการรักษาด้วยยา คือ เพื่อช่วยให้การนอนกลับสู่ภาวะปกติ

การนอนมีความสำคัญต่อกลไกเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ซึ่งหากมีอาการนอนไม่หลับควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขอย่างตรงจุด หรือในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขอาการได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาต่อไป

อ้างอิง

บทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวข้อนี้
บางทีเราอาจจะแค่มีเรื่องที่อยากคุยกับใครบางคน ที่ไลท์โพสต์ เราต้องการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะกับสถานการณ์ของคุณ
Company
Directories
ข้อมูลสำหรับติดต่อ
437/7 ซอย พหลโยธิน 35 แยก 5-2
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:00 - 17:00
เสาร์ - อาทิตย์ (นัดหมายล่วงหน้า)
© 2020 Lightpost Counseling. Developed by MeCode. All Rights Reserved.