โรคซึมเศร้าคืออะไร
"โรคซึมเศร้า" คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด สมาธิหรือความจำ ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ความรับผิดชอบในหน้าที่ พฤติกรรม และยังมีอาการทางร่างกายต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลียไม่มีแรง ปวดหัว ปวดท้อง ปวดตึงกล้ามเนื้อ บ่าไหล ท้ายทอย และอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า บางคนอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือบางคนอาจเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น ความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจ บุคลิกลักษณะนิสัยของบุคคล หรือปัจจัยต่าง ๆ จากคนรอบข้าง เป็นต้น และผู้ที่เป็นอาจไม่มีอาการทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาการหลักๆ จะมีคล้ายๆ กัน เช่น รู้สึกเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการขึ้นไป
1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่าย (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิด)
2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก
3. การกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป ทำให้น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก
4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
5. หงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย
6. รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไร
7. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
8. สมาธิลดลง มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
9. คิดเรื่องการตาย การทำร้ายตนเอง หรือวิธีการฆ่าตัวตาย
ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ ต้องมีอาการติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
สำหรับผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า แสดงถึงภาวะของความผิดปกติที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและรักษาเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า
การหาสาเหตุของโรคเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้เราสามารถรักษาโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจไม่ได้มีสาเหตุจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไป ดังนี้
- การทำงานของสารเคมีบางชนิดที่เปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติไป
- กรรมพันธุ์ สำหรับบางคนพันธุกรรมอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า อย่างที่เราเห็นหลายๆครอบครัวที่พ่อแม่เป็นซึมเศร้า และลูกก็เป็นซึมเศร้าด้วย
- บุคลิกลักษณะนิสัยบางอย่างที่อาจมีผลให้บุคคลเป็นซึมเศร้า เช่น คนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ เครียดง่าย หรือมองโลกในแง่ร้าย
- ปัจจัยจากสภาพแวดล้อม เช่น การได้รับความรุนแรงจากคนรอบตัว ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ การถูกละเลย การล่วงละเมิด หรือแม้แต่การที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดัน ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม
การรักษาโรคซึมเศร้า
- รักษาด้วยการทานยา ช่วยปรับสารเคมีในสมอง โดยที่ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองป่วยจะต้องเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการอย่างละเอียด ให้จิตแพทย์สามารถสั่งยาหรือประเมินการรักษา ได้เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการแต่ละบุคคล
- รักษาด้วยการทำจิตบำบัด โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เช่น ปรับความคิดด้านลบให้เป็นด้านบวก คิดในมุมมองใหม่ มีแนวทางปรับตัวในการใช้ชีวิต หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง การปรับตัวเข้าหาผู้อื่น การเข้าสังคม โดยผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงควรจะบำบัดร่วมกับการทานยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่มั่งคงมากขึ้น
การป้องกันตนเองจากโรคซึมเศร้า
- ดูแลร่างกาย ดูแลตนเองในเรื่องการกิน การนอนหลับพักผ่อน และการออกกำลังกายให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุลในการผลิตสารเคมีในสมองให้กลับมาเป็นปกติ
- ดูแลจิตใจ หมั่นสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง ว่ามีความเครียดหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และระวังเรื่องความเครียดสะสม เพราะหากมีความเครียดในปริมาณที่สูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจเป็นสาเหตุทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้
- ปรับความคิด พฤติกรรม หากมีความคิดหรือพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้เกิดความเครียด เช่น การคิดถึงแต่สิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นในชีวิต การเก็บตัวหรืออยู่คนเดียวมากจนเกินไป การมีความคิดลบต่อตนเอง เป็นต้น
อ้างอิง