Psychology Fact ข้อควรรู้สุขภาพจิต

ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)

By Mind Expert | 01 January 2021

ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังที่เกิดในที่ทำงาน ที่ไม่ได้รับการจัดการ จนทำให้รู้สึกมีความเหนื่อยล้าทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ เกิดความเบื่อหน่ายในการทำงาน รู้สึกสูญเสียกำลังใจในการทำงาน มองงานที่กำลังทำอยู่ในเชิงลบ ขาดความสุข สนุกในเนื้องาน หมดแรงจูงใจในการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง บางรายอาจรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาการเหล่านี้ยังไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้และอยู่ในสภาพแวดล้อม และสภาพอารมณ์ลักษณะนี้เดิม ๆ อาจส่งผลต่อการทำงาน เช่น อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด หรือนานวันเข้าก็อาจเกิดโรคซึมเศร้าได้

การทำงานระยะต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ ภาวะหมดไฟ (Miller & Smith, 1993) มีดังนี้

1. ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงแรกในการเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และองค์กร

2. ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง บุคคลจะเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทน เริ่มเจอกับปัญหาในการทำงาน และการเป็นที่ยอมรับ ทำให้อาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจ และเหนื่อยล้า

3. ระยะไฟตก (brownout) บุคคลจะรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง

4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) เป็นช่วงไฟในการทำงานตกและไม่ได้รับการแก้ไข บุคคลจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่

5. ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) ในระยะนี้หากบุคคลได้มีโอกาสผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถปรับตนเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงาน

สาเหตุของภาวะหมดไฟในการทำงาน

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานวรรคมักเกิดจากงานที่ทำ เช่น การที่ทำงานหนักเกินไป ปริมานงานมากเกินไป ต้องทำงานในเวลาที่เร่งรีบ ไม่สามารถตัดสินใจในงานได้ รู้สึกไม่มีคุณค่าในสิ่งที่ทำ ได้ทำงานที่ไม่ถนัด ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไม่ดีหรือเข้ากันไม่ได้ ความทุ่มเทในการทำงานกับสิ่งที่ได้รับไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานทำให้บุคคลเกิดความเครียดสะสมและไม่สามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้ส่งผลให้บุคคลมีภาวะหมดไฟในการทำงาน

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงาน

สังเกตสัญญาณเตือนด้านอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของตนเอง ดังนี้

- ด้านอารมณ์ รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิด โมโหง่าย รู้สึกอ่อนล้า อารมณ์แปรปรวน และรู้สึกไม่พอใจในงานที่ทำ

- ด้านความคิด มองคนอื่นในแง่ลบแง่ร้ายโดยเน้นคนในที่ทำงาน, โทษคนอื่นเสมอ, มีความระแวงผู้อื่น, หนีปัญหา ไม่จัดการปัญหา, สงสัยและไม่เชื่อในศักยภาพของตนเอง ความมั่นใจในการทำงานลดลง

- ด้านพฤติกรรม มีการผัดวันประกันพรุ่ง ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน หุนหันพลันแล่น บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ไม่อยากตื่นไปทำงาน มาทำงานสายจนผิดสังเกตติดต่อกัน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่มีความสุขในการทำงาน

การป้องกันและแก้ไข

1. นอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา อย่าเสียเวลาไปกับความกังวลในเรื่องงานของคุณ และพยายามพัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา

2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ

3. ลดความเครียดลง โดยการหากิจกรรมทำนอกเวลาเช่น ฟังเพลง, ดูหนัง, ออกกำลังกาย, ลาพักร้อนเป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือร่วมกิจกรรมขององค์กร

4. ปรับทัศนคติในการทำงาน ทำความเข้าใจในเนื้องาน และองค์กรที่ทำงานด้วย

5. เปิดใจให้กับคนรอบข้าง อย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน ยอมรับความแตกต่างของคน มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน

6. ปรับพฤติกรรมในการทำงาน ไม่ทำงานหักโหมเกินไป เลี่ยงการเอางานไปทำที่บ้าน ไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้าน รู้จักขอความช่วยเหลือและปฏิเสธอย่างเหมาะสม

7. มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

อ้างอิง

  • https://www.who.int/news/item/28-05-2019-burn-out-an-occupational-phenomenon-international-classification-of-diseases
บทความอื่นๆเกี่ยวกับหัวข้อนี้
บางทีเราอาจจะแค่มีเรื่องที่อยากคุยกับใครบางคน ที่ไลท์โพสต์ เราต้องการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะกับสถานการณ์ของคุณ
Company
Directories
ข้อมูลสำหรับติดต่อ
437/7 ซอย พหลโยธิน 35 แยก 5-2
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:00 - 17:00
เสาร์ - อาทิตย์ (นัดหมายล่วงหน้า)
© 2020 Lightpost Counseling. Developed by MeCode. All Rights Reserved.