ในสังคมเรา อาจมีคนที่ทุกข์ใจที่ยังหาทางออกไม่ได้อยู่ การมีใครสักคนที่พร้อมรับฟังและเข้าใจให้กำลังใจ จึงเป็นสิ่งที่มีความหมาย และเป็นการช่วยเหลือคนที่กำลังประสบปัญหา เต็มไปด้วยความเครียดได้ดีมาก อาจจะทำให้คนคนนั้นไม่ป่วยหนักจนกลายเป็นซึมเศร้าได้ เพราะฉะนั้น การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนรอบตัวเราจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ โดยวิธีง่ายๆ ดังนี้
1.สังเกตความเปลี่ยนแปลง
สังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็น สีหน้า ท่าทาง พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น จากสดใสกลับดูนิ่งเงียบขึ้น ทานอาหารมากหรือน้อยกว่าปกติ หรืออารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
2.เข้าหาด้วยความห่วงใย
เริ่มต้นแสดงออกถึงความห่วงใยผ่านการเข้าไปสอบถามหรือพูดสะท้อนจากสิ่งที่เราสังเกตเห็น และเปิดพื้นที่ให้คนใกล้ตัวสามารถเล่าหรือระบายปัญหาได้ ทั้งนี้เราควรมีความพร้อมเวลาและด้านอารมณ์ของตัวเองก่อนที่จะเข้าไปรับฟังผู้อื่นเสมอ เช่น เห็นช่วงนี้เครียดๆ มีอะไรกลุ้มใจรึเปล่า เล่าให้ฟังได้นะ ,น้องดูเครียดๆ พี่เป็นห่วงนะ
3.เปิดใจรับฟังโดยไม่ตัดสิน
รับฟังด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ และจริงใจ มอบความสนใจให้อีกฝ่ายอย่างเต็มที่ เปิดใจรับฟังโดยไม่ตัดสินถูกผิด ไม่รีบให้คำแนะนำ หรือชี้แนะหนทางแก้ไขปัญหา จากประสบการณ์ของตนเอง ให้คอยอยู่เคียงข้างและเป็นผู้รับฟังที่ดี
4.แสดงความเข้าอกเข้าใจ
พยายามทำความเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงหน้า และ แสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจ อยู่เคียงข้าง และให้ความสำคัญ เช่น ตอบรับด้วยคำที่ว่า หากเป็นฉันก็คงเสียใจมากเหมือนกัน ,ฉันอาจจะช่วยไม่ได้มาก แต่จะคอยรับฟังนะ, ฉันอยู่ตรงนี้ มีอะไรก็มาเล่าได้ตลอด
สิ่งสำคัญในการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนรอบตัวเรา คือการแสดงออกให้เขารับรู้ได้ว่ายังมีเราคอยอยู่เคียงข้าง เท่านี้ก็สร้างความอุ่นใจให้อีกฝ่ายได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้แล้ว